วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาเกมส์เอ็นจิ้นด้วย HTML5 + JavaScript ตอนที่ 2 คลาส JsgeObject

จากบทความแรกเราได้พูดถึงเครื่องมือและชื่อของเกมส์เอ็นจิ้นที่เราจะเขียนแล้ว ในบทความนี้เราจะมาเริ่มเขียนคลาสแรกกัน คือ คลาส JsgeObject ในภาษา JavaScript เราเขียนคลาส ได้ดังนี้

/**
Create a new JsgeObject
@class represent a object in a game. It is a base class of all classes in Jsge.
@constructor
@param {Number} x the x position of the object.
@param {Number} y the y position of the object.
*/
function JsgeObject(x, y) {
this.x = x;
this.y = y;
this.data = null;
}

การประกาศชื่อและโครงสร้างของคลาสในภาษา JavaScript เราทำได้โดยให้ชื่อฟังก์ชัน (Function) เป็นชื่อเดียวกับคลาสที่เราต้องการสร้างและเราสามารถที่จะกำหนดคุณสมบัติ (Property) ของคลาสได้ โดยเีรียกคำสั่ง this.x = x; ดังตัวอย่างข้างต้น เป็นต้น

จากตัวอย่างโค้ดข้างต้น เราจะเห็นว่าในส่วนคอมเมนต์ (Comment) มีคำอธิบายคลาสอยู่พร้อมกับแท๊ก (Tag) พิเศษ อย่างเช่น @param หรือ @returns สำหรับใช้ทำเอกสารประกอบการใช้งานจากโค้ดที่เราเขียน รายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละแท๊กจะอธิบายไว้ในบทความถัดไป

หลังจากที่เราได้ประกาศชื่อและโครงสร้างของคลาสแล้ว ถัดมาเราก็จะมากำหนดการดำเนินการ (Method) ต่างๆของคลาสดังนี้

/**
Get the reference to the user data attached to this object.
@returns {Object} the reference to the user data
*/
JsgeObject.prototype.getData = function() {
return this.data;
};

/**
Get the x position of this object.
@returns {Number} the x position
*/
JsgeObject.prototype.getX = function() {
return this.x;
};

/**
Get the y position of this object.
@returns {Number} the y position
*/
JsgeObject.prototype.getY = function() {
return this.y;
};

/**
Set the data associate to this object.
@param {Object} the data.
*/
JsgeObject.prototype.setData = function(data) {
this.data = data;
};

/**
Move the object to new x and y positions.
@param {Number} x the x position of the object.
@param {Number} y the y position of the object.
*/
JsgeObject.prototype.move = function(x, y) {
this.x = x;
this.y = y;
};

การกำหนด Method ของคลาส เราจะใช้ <ชื่อคลาส>.prototype.<ชื่อ Method> = function() {...} ใน Method เราสามารถอ้างถึง Property ของคลาสได้โดยเรียกคำสั่ง this.<ชื่อ Properties> จากโค้ดตัวอย่ีางข้างต้นเราจะเห็นว่า Method getX() คืนค่าจาก this.x

เราจะเห็นว่าแต่ละ Method มีคอมเมนต์อธิบายการทำงานและพารามิเตอร์ (Parameter) ที่ต้องส่งผ่าน Method ว่ามีอะไรบ้าง Method ของคลาส JsgeObject ทำงานไม่ซับซ้อนแค่คืนค่า Property และกำหนดตำแหน่ง x และ y เท่านั้น

หลังจากที่เราได้โค้ดของคลาส JsgeObject แล้ว เราก็จะมาทดสอบการทำงานโค้ดที่เราเขียนกัน เราเรียกการทดสอบย่อยๆนี้ว่า Unit Test วิธีที่ง่ายที่สุดในการทดสอบก็คือ เขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่อีกตัวเพื่อทดสอบโค้ดของเรา ซึ่งโปรแกรมนี้จะทดสอบแต่ละกรณีการใช้งานที่เป็นไปได้ของโค้ด การทดสอบแต่ละกรณีเราเรียกว่า Test Case เพื่อง่ายต่อการทดสอบ เราจะเริ่มด้วย Test Case เดียวก่อน โดยจะทดสอบ Method ทั้งหมดของคลาส JsgeObject

การทดสอบเราอาจจะเขียนโค้ดโดยใช้ if-statement ตรวจสอบค่าที่ได้หลังจากเรียกแต่ละ Method หรือ ที่นิยมปฎิบัติกันก็คือ ใช้ Library สำหรับทำ Unit Test

ในบทความนี้เราก็ได้เรียนรู้วิธีเขียนคลาสใน JavaScript แล้ว ในบทความถัดไปเราจะมาต่อในเรื่องการทดสอบคลาสที่เราเขียนกัน

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มาฝึกหัดเขียนโปรแกรมกัน พัฒนาเกมส์เอ็นจิ้นด้วย HTML5 + JavaScript

การฝึกเขียนโปรแกรมนั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะการเขียนโปรแกรมให้กับเราแล้ว ก็อาจจะช่วยให้เราได้ไลบรารี่ (Library) ใหม่ๆ มาเก็บไว้ใช้งานอีกด้วย ถ้าเราคิดโปรเจ็คที่ใช้ในการฝึกเขียนโปรแกรมที่สามารถนำไปประยุกต์กับงานของเราได้

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเว็บ www.html5rocks.com มา ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าเราน่าจะฝึกเขียนโปรแกรมโดยใช้ Feature ใหม่ๆของ HTML5 + JavaScript ดู และน่าจะเป็นโปรแกรมที่เรานำมาใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้ นึกไปนึกมาอยู่หลายวัน ก็เลยคิดออกว่าจะทำอะไรดี มาจบลงที่ เกมส์เอ็นจิ้นเอพีไอ (Game Engine API)

Game Engine API (Application Programming Interface) เป็นโปรแกรมที่รวบรวมชุดคำสั่ง การทำงานที่ใช้ในการพัฒนาเกมส์เข้าไว้ด้วยกัน โดยที่เราสามารถนำไปใช้พัฒนาเกมส์ง่ายๆได้ ตัว API อาจจะประกอบไปด้วยชุดคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของตัวละครในเกมส์ การสร้างฉากของเกมส์ หรือ การสั่งให้ตัวละครในเกมส์มีการโต้ตอบกัน เป็นต้น

ที่ผมเลือกทำ Game Engine API ก็เพราะว่า การฝึกเขียนโปรแกรมที่เกี่ยวกับเกมส์นั้นใช้เทคนิคการเขียนโปรแกรมที่ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่การคำนวนทางคณิตศาสตร์ การแสดงผลทางกราฟฟิก (Graphic) หรือ การทำงานที่เกี่ยวกับอีเวนท์ (Event) ต่างๆ ในเว็บบราวเซอร์ (Web Browser) เป็นต้น คิดว่าน่าจะช่วยในการฝึกเขียนโปรแกรมได้ดี นอกจากนี้ เราไม่จำเป็นต้องลงโปรแกรมอะไรมากมีแค่ notepad และ เว็บบราวเซอร์ ที่ใช้งาน HTML5 ได้ อย่างเช่น Google Chrome เป็นต้น ก็สามารถที่จะเขียนโปรแกรมได้แล้ว

ผมให้ชื่อโปรเจ็คนี้ว่า Jsge ซึ่งย่อมาจาก JavaScript Game Engine ก่อนที่จะเริ่มเขียนโปรแกรม เรามาดูกันก่อนว่าต้องมีเครื่องมืออะไรบ้างที่ใช้ทำงาน ดังนี้
  • เว็บบราวเซอร์ที่ใช้งาน HTML5 ได้
  • Text Editor อย่างเช่น notepad ใช้สำหรับเขียนโค้ด
นอกจากเว็บบราวเซอร์และ Text Editor ผมจะใช้โปรแกรมต่อไปนี้ด้วย ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาโปแกรมเท่านั้น จะไม่มีก็ได้ แต่ผมจะอธิบายไว้ในขั้นตอนการเขียนโปรแกรมด้วย เผื่อมีคนสนใจนำไปใช้งานต่อไป
  • QUnit เป็น JavaScript library สำหรับใช้ทำ Unit Test สามารถดาว์โหลดได้ที่นี่ http://github.com/jquery/qunit (คลิกที่ปุ่ม Download Source)
  • JsDoc Toolkit เป็น JavaScript library สำหรับใช้ทำเอกสารอธิบายการใช้งาน Jsge สามารถดาว์โหลดได้ที่นี่ http://code.google.com/p/jsdoc-toolkit/downloads/list เลือกลิงค์ที่เป็น jsdoc-toolkit-2.4.0.zip
  • Git เป็น Version Control System ที่ใช้จัดเก็บซอส์โค้ดของ Jsge สามารถดาว์โหลดได้ที่นี่ http://code.google.com/p/msysgit/downloads/list เลือกลิงค์ที่เป็น PortalGit1.7.1
โปรแกรมข้างต้นเราสามารถที่จะก๊อปปี้ไฟล์หรือแตก zip ไฟล์มาใช้งานได้เลย วิธีการใช้งานแต่ละโปรแกรมจะอธิบายในหัวข้อต่อๆไป เมื่อมีการใช้งาน

ก่อนที่เราจะเริ่มเขียน API เรามาวางโครงสร้างของโปรแกรมคราวๆก่อนว่าน่าจะมีอะไรบ้าง เราจะเริ่มจากความต้องการ (Requirement) ง่ายๆก่อน ค่อยๆเพิ่มไปเรื่อยๆจนได้การทำงานทั้งหมดที่เราต้องการ เราจะใช้วิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Short Iterations ก็คือ ใช้ระยะเวลาสั้นๆประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ในการพัฒนาแต่ละส่วนแล้วเผยแพร่โปรแกรมที่เราเขียนออกไปให้ผู้อื่นใช้งาน เพื่อรับข้อเสนอแนะเพื่อนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมของเราต่อไป

ดังนั้นเราจะมาเริ่มจากส่วนที่ง่ายที่สุดก่อนก็คือ เราจะทำ API สำหรับสร้างวัตถุที่อยู่ในเกมส์ขึ้นมา เราขอเรียกมัน JsgeObject เป็นคลาสที่ใช้แทนวัตถุที่อยู่ในเกมส์ ซึ่งมีคุณสมบัติ (Property) และ การดำเนินการ (Method) ดังนี้

Properties
  • x เป็น ตำแหน่งตามแนวนอนของวัตถุ
  • y เป็น ตำแหน่งตามแนวตั้งของวัตถุ
  • data ใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวข้องของวัตถุ เช่น ถ้าวัตถุเป็นบ้าน data อาจจะใช้เก็บชื่อเจ้าของบ้านหรือราคาบ้าน เป็นต้น
Methods
  • getX() ใช้ดึงค่า x ของวัตถุ
  • getY() ใช้ดึงค่า y ของวัตถุ
  • getData() ใช้ดึงค่า data ของวัตถุ
เมื่อเราได้องค์ประกอบคราวๆของคลาสแล้ว เราก็จะมาเริ่มเขียนโค้ดกัน ซึ่งเราจะมาต่อตรงนี้กันในบทความหน้านะครับ :D

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เขียนขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมใน Comment ก่อนเขียนโค้ด ช่วยให้เขียนโค้ดง่ายขึ้น

เวลาที่เราเขียนโค้ดของโปรแกรมบ่อยครั้งที่เรามักจะคิดการทำงานและตรรกะของโปรแกรมในขณะที่เขียนโค้ดเลย ถ้าเราเขียนโค้ดสั้นๆไม่ซับซ้อนมาก อย่างเช่น คำนวนเปอร์เซ็นของจำนวนสินค้าหรือตรวจสอบว่าสองตัวแปรมีค่าเหมือนกันหรือไม่ วิธีการเขียนโค้ดแบบนี้อาจจะทำได้ไม่ลำบากนัก แต่ถ้าโค้ดที่เราเขียนมีความซับซ้อนและขั้นตอนในการทำงานมาก วิธีการแบบนี้อาจจะค่อยจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร

จากประสบการณ์ของผมโค้ดที่ออกมาใช้งานได้ แต่บ่อยครั้งที่อ่านยากและลำดับของการทำงานและตรรกะออกมาไม่เป็นระเบียบนัก ทำให้เวลาที่กลับมาอ่านโค้ดเพื่อทำการแก้ไขใช้เวลาพอสมควร บ่อยครั้งเข้าผมก็คิดว่ามีวิธีไหนบางที่จะช่วยให้การเขียนโปรแกรมทำได้ดีขึ้น อาจจะไม่ต้องถึงขนาดดีเลิส ก็ขอให้ใช้เวลาในการอ่านน้อยลงก็ยังดี

หลังจากจบและทำงานได้อยู่ประมาณหลายเดือน ก็มีอยู่วันหนึ่งต้องทำโปรแกรมตามเอกสารที่ลูกค้าเขียนมาให้ว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างในเวลาที่จัดเก็บข้อมูล เนื่องจากว่าไม่ต้องการย้อนกลับไปมาระหว่างเอกสารและหน้าจอเขียนโค้ด ผมก็เลยก๊อปปี้เงื่อนไขที่ลูกค้าเขียนไว้ในเอกสารมาวางเป็น Comment ในโปรแกรม แล้วก็เริ่มเขียนโปรแกรมตาม Comment นั้น

ผมเขียนโค้ดแทรกไประหว่างบรรทัดของ Comment จนกระทั้งจบส่วนการทำงานของโปรแกรม ก็พบว่าผมเขียนโปรแกรมได้เร็วขึ้นและรู้สึกว่าโ้ค้ดที่เขียนอ่านง่านขึ้น พอได้แนวทางที่ว่านี้ผมเลยใช้วิธีเดียวกันกับส่วนอื่นของโปรแกรมทั้งหมด และงานอื่นๆถัดมา

ทำไมเขียน Comment ก่อนเขียนโค้ดถึงช่วยให้เราเขียนโค้ดดีขึ้น ก็เพราะว่าเราได้มีการจัดลำดับความคิดก่อนที่จะลงมือเขียนโค้ด มากกว่านั้นการคิดออกมาเป็นภาษาที่เราใช้สื่อสารกันระหว่างบุคคล ก็จะทำให้โค้ดที่ออกมาอ่านง่ายขึ้น เราเขียนโค้ดโดยอิงจาก Comment ที่เราเขียนอธิบายการทำงานไว้ วิธีการเขียนโค้ดแบบนี้ใช้ได้ดีมากๆ ลองนำไปใช้กันดูนะครับ น่าจะช่วยให้ทำงานได้เร็วและโค้ดอ่านง่ายขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Keyboard Shortcuts สิ่งสำคัญที่เรามักจะลืม

Vi เป็น Text Editor ตัวแรกที่ผมใช้เขียนโปรแกรม เหตุผลที่ผมใช้ Vi ก็เพราะว่าตอนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปีแรกๆ อาจารย์อนุญาติให้เขียนโปรแกรมบนระบบปฎิบัติการ Linux เท่านั้น ซึ่ง Linux ที่ใช้ตอนนั้นก็เป็นเวอร์ชั่นที่มหาวิทยาลัยทำขึ้นเอง เป็นแบบ Console Mode

การใช้ Vi ผ่าน Console Mode จะต้องใช้คีย์บอร์ดในการสั่งงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม ลบ ตัวอักษร การค้นหา หรือ ไปยังบรรทัดที่ต้องการ ตอนเริ่มใช้งานใหม่ๆ อาจจะยากเพราะว่าจะต้องจำปุ่มที่ใช้สั่งงานในคีย์บอร์ด แต่เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่งผมก็พบว่ามันสะดวกมาก ไม่ต้องยกมือจากคีย์บอร์ดก็สามารถที่จะเขียนโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว

หลังจากที่ย้ายมาเขียนโปรแกรมบน MS Windows มากขึ้น ก็ทำให้ติดการใช้เมาส์มากกว่าการสั่งงานทางคีย์บอร์ดไปโดยปริยาย แต่อันที่จริงแล้วถ้าเราลองใช้ ปุ่มลัด (Keyboard shortcuts) ในการสั่งงานดูก็จะพบว่ามันสะดวกและทำงานได้รวดเร็วกว่าการใช้เมาส์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นละ ลองมาดูเหตุผลกัน

การใช้เมาส์เลื่อนไปยังเมนูต่างๆ นั้นกินเวลาระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้ปุ่มลัด อีกทั้งทำให้เราต้องย้ายมือไปมาระหว่างคีย์บอร์ดและเมาส์ เราอาจจะมองว่ามันเป็นเวลาเพียงเล็กน้อยมาก แต่ถ้าเราลองนับจำนวนครั้งในแต่ละวันที่เราย้ายไปมาระหว่างคีย์บอร์ดและเมาส์ ก็จะพบว่ามันใช้เวลาพอสมควรเลยละ

ดังนั้นถ้าเราใช้งานคำสั่งใดบ่อยๆ เราก็ควรจะจำปุ่มลัดไว้หรือสร้างปุ่มลัดสำหรับคำสั่งนั้น Text Editor เกือบทุกตัวในปัจจุบันมีปุ่มลัดและสามารถที่จะสร้างปุ่มลัดได้ วันนี้ผมเอาปุ่มลัดที่ใช้กันบ่อยๆใน Eclipse มาแนะนำกัน
  • Ctrl + O ใช้เปิดกล่องค้นหา Member ของคลาสที่อยู่ในไฟล์ที่เรากำลังทำงานอยู่
  • Ctrl + Shift + T ใช้เปิดกล่องค้นหา Type ที่เราสนใจ
  • Ctrl + M ใช้ย่อขยายหน้าต่างที่กำลังทำงานอยู่
  • Ctrl + Space ใช้เปิดกล่องตัวช่วยเดาชื่อตัวแปร คลาส หรือ เมดทอด ขณะที่เราพิมพ์อยู่
  • Ctrl + Shift + F ใช้จัดซอร์สโค้ดให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นมาตราฐาน
  • Ctrl + D ใช้ลบบรรทัดปัจจุบันที่เราทำงานอยู่
  • Ctrl + Left ใช้เลื่อนเคอเซอร์ไปทางด้านซ้ายที่ละหนึ่งคำ
  • Ctrl + Right ใช้เลื่อนเคอเซอร์ไปทางด้านขวาที่ละหนึ่งคำ

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มาทำสิ่งต่างๆให้น้อยลงกัน

ปัจจุบันสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรามีความซับซ้อนมากขึ้น จนบางครั้งเราต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจมันพอสมควร ถึงจะสามารถใช้งานมันได้อย่างถูกต้อง อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

บ่อยครั้งที่เราจะพบว่าการที่สิ่งต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้นนั้น ก็เพราะว่ามันมีองค์ประกอบหรือวิธีการใช้งานที่มากเกินไป จนทำให้สิ่งที่น่าจะใช้งานง่ายกลับยากมากขึ้น ดังนั้น การที่เราทำให้องค์ประกอบเหล่านั้นน้อยลง ก็จะอาจจะช่วยให้ง่่ายต่อการทำความเข้าใจและใช้งานมากขึ้น

โปรแกรมก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นได้ว่าโปรแกรมที่ใช้งานยากนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากเกินความจำเป็นหรือมีขั้นตอนในการใช้งานหลายขั้นตอนมากไป ดังนั้น ถ้าเราสามารถลดสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้โปรแกรมใช้งานได้ง่ายขึ้น

บริษัทผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่หลายบริษัทก็นำแนวความคิดนี้ไปใช้เหมือนกัน โดยเราจะเห็นได้จากโปรแกรมเวอร์ชั่นที่มีการลดฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีอยู่ในโปรแกรมเวอร์ชั่นเดิม อย่างเช่น Visual Studio, MS SQL หรือ Oracle Database Express เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้มีข้อดีคือ ขนาดเล็ก มีฟังก์ชั่นไม่มากและง่ายต่อการศึกษาสำหรับผู้เริ่มต้น

การทำอะไรเยอะแยะมากมายเกินไป บางครั้งก็อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น เมื่อเริ่มทำโปรแกรมใหม่ๆครั้งต่อไป ลองมาทำสิ่งต่างๆให้น้อยลงกัน (ขั้นตอนการใช้งาน จำนวนหน้าต่างโปรแกรม เป็นต้น) แล้วเราจะพบว่าโปรแกรมเราใช้งานง่ายขึ้นอีกเยอะเลย

นอนดึกกับการเขียนโปรแกรม

สมัยที่ผมเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมชอบเขียนโปรแกรมจนดึกดื่นคำคืนเป็นประจำและนิสัยนี้ก็ติดมาจนถึงสมัยที่เริ่มทำงานหลังจากจบมาได้ 2 - 3 ปี การได้เขียนโปรแกรมในเวลากลางคืน รู้สึกว่ามันเงียบและมีสมาธิมากกว่า แต่พอเริ่มทำงานเราก็ไม่สามารถที่จะนอนดึกแบบนั้นได้อีกเพราะว่าต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน

คิดว่าคงมีหลายคนที่เป็นเหมือนผมและบางคนก็อาจจะยังเขียนโปรแกรมดึกๆดื่นๆอยู่เหมือนเดิม การทำงานแล้วนอนดึกตื่นสายนั้น จริงๆแล้วมีข้อเสียที่ผมอยากจะชี้ให้เห็น 3 ข้อดังนี้

สมาธิ อันนี้เห็นได้ชัดเลย ในวันที่เรานอนดึกตื่นสายเราจะรู้ัสึกเลยว่าสมาธิจะน้อยลง ทำงานอะไรก็จะรู้สึกวอกแวกง่ายและก็รู้สึกเบื่อๆเซ็งๆ งานไม่ค่อยเดิน ทั้งนี้ก็เพราะว่าเรายังรู้สึกล้าอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาธิและต่อเนื่องไปถึงการทำงานของเรา

สุขภาพ อันนี้ไม่บอกก็คงรู้กันอยู่แล้ว นอนดึกมีผลกับสุขภาพขนาดไหน ลองหาดูในอินเตอร์เน็ตจะพบเยอะแยะมากมาย ประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอก็คือ ถ่ายไม่ออก กินข้าวไม่ลง หงุดหงิดง่าย และ ง่วงนอนทั้งวัน เป็นต้น

ความคิดสร้างสรรค์ ข้อนี้อาจจะไม่ชัดเจน แต่จากประสบการณ์ของผม ความคิดสร้างสรรค์หายไปเวลาที่นอนดึก จริงอยู่บางคนอาจจะคิดสร้างสรรค์ได้ดีตอนดึกๆ แต่ถ้าลองถามตัวเองว่ามีกี่ครั้งที่เราทำได้อย่างนั้น สม่ำเสมอไหม ถ้าคิดให้ดีๆ ก็อาจจะพบว่ามีไม่กี่ครั้งที่เราทำมันได้ดี

ดังนั้นการนอนเป็นเวลา เข้านอนแต่หัวค่ำตื่นเช้า นับว่าดีที่สุด ดีทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เหมือนกับตอนที่เรายังเป็นเด็กที่ถูกผู้ใหญ่สอนให้นอนแต่หัวค่ำ เรารู้สึกมีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างสนุกสนานไม่รู้จักเบื่อ ได้ทุกๆวัน

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทำไมต้อง Software Craftsman

การพัฒนาซอฟต์แวร์ ในความคิดของผม ผมคิดว่ามันประกอบไปด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ ก็คือ ต้องมีความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรมและเข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์ ศิลป์ ก็คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและวางโครงสร้างของโปรแกรม

ถ้าเราฝึกฝนทักษะทั้งสองเป็นประจำ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ก็จะทำให้เราสามารถที่จะผลิตซอฟต์แวร์คุณภาพออกมาได้ดีมากยิ่งขึ้น

Software Craftsman หรือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ขั้นเทพ ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักพัฒนาทุกคนก็ว่าได้ แต่ว่าการจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และ ความอดทน

ถ้าจะให้ผมพูดถึง Craftsman ในประเทศไทยที่ไม่ใช่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เราน่าจะยึดถือเอาเป็นแบบอย่างได้ นักแกะสลักไม้ ทางเหนือของเรา เป็นกลุ่มแรกที่ผมจะนึกถึง

ผมเคยไปเียี่ยมชมร้านขายไม้แกะสลักในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ รู้สึกชื่นชมและทึ่งในงานแกะสลักเหล่านั้นมาก ลวดลายมีความสวยงาม สลับซับซ้อนและปราณีตมาก จนอดที่จะถามเจ้าของร้านไม่ได้ว่างานแต่ละชิ้นใช้ระยะเวลานานเท่าไรกว่าจะเสร็จ คำตอบที่ได้ก็คือ 1 - 2 ปี นับว่าเป็นเวลาที่นานพอควร

ถึงแม้ว่าจะไม่เคยพบหน้าผู้ที่สร้างงานแกะสลักเหล่านั้น แต่คุณภาพของงานก็เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีว่า ผู้สร้างนั้นมีความชำนาญและความอดทนมากแค่ไหน เห็นแล้วก็น่ายึดถือเอาเป็นแบบอย่างในการทำงาน

ส่วนตัวผมยังคงต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และฝึกฝนความชำนาญอีกต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาที่ผมสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า I am Thai Software Craftsman