การพัฒนาซอฟต์แวร์ ในความคิดของผม ผมคิดว่ามันประกอบไปด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ ก็คือ ต้องมีความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรมและเข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์ ศิลป์ ก็คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและวางโครงสร้างของโปรแกรม
ถ้าเราฝึกฝนทักษะทั้งสองเป็นประจำ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ก็จะทำให้เราสามารถที่จะผลิตซอฟต์แวร์คุณภาพออกมาได้ดีมากยิ่งขึ้น
Software Craftsman หรือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ขั้นเทพ ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักพัฒนาทุกคนก็ว่าได้ แต่ว่าการจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และ ความอดทน
ถ้าจะให้ผมพูดถึง Craftsman ในประเทศไทยที่ไม่ใช่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เราน่าจะยึดถือเอาเป็นแบบอย่างได้ นักแกะสลักไม้ ทางเหนือของเรา เป็นกลุ่มแรกที่ผมจะนึกถึง
ผมเคยไปเียี่ยมชมร้านขายไม้แกะสลักในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ รู้สึกชื่นชมและทึ่งในงานแกะสลักเหล่านั้นมาก ลวดลายมีความสวยงาม สลับซับซ้อนและปราณีตมาก จนอดที่จะถามเจ้าของร้านไม่ได้ว่างานแต่ละชิ้นใช้ระยะเวลานานเท่าไรกว่าจะเสร็จ คำตอบที่ได้ก็คือ 1 - 2 ปี นับว่าเป็นเวลาที่นานพอควร
ถึงแม้ว่าจะไม่เคยพบหน้าผู้ที่สร้างงานแกะสลักเหล่านั้น แต่คุณภาพของงานก็เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีว่า ผู้สร้างนั้นมีความชำนาญและความอดทนมากแค่ไหน เห็นแล้วก็น่ายึดถือเอาเป็นแบบอย่างในการทำงาน
ส่วนตัวผมยังคงต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และฝึกฝนความชำนาญอีกต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาที่ผมสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า I am Thai Software Craftsman
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น